ก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีด้วย WiFi 6/Wi-Fi 6E

เมื่อเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบการเชื่อมต่อต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนหรือพัฒนาตาม สัญญาณไร้สายก็เช่นกันอย่าง Wifi ที่เราคุ้นเคยกัน เรายังคงใช้ที่เป็นระบบแบบ ac (2.4 Hz&5Hz) หรือ Wifi 5 นั้นแหละ แต่ ณ ปัจจุบันมันไปไกลกว่านั้นมาก อย่าง Wifi 6 และล่าสุด 6E (แอดตามไม่ทันแล้วจริงๆ)

ซึ่งวันนี้เราจะมาเจาะประเด็นนี้กันว่า 6/6E มันมีลักษณะหรือจุดเด่นยังไง ไปดูพร้อมๆกันเลยนะคะ

อย่างแรกต้องเกริ่นก่อนว่า วิวัฒนาการของระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือ Wifi มีดังนี้

  • Wi-Fi 1: 802.11b (1999)
  • Wi-Fi 2: 802.11a (1999)
  • Wi-Fi 3: 802.11g (2003)
  • Wi-Fi 4: 802.11n (2009)
  • Wi-Fi 5: 802.11ac (2014)
  • Wi-Fi 6: 802.11ax (2019)

**เราจะเรียกการเชื่อมต่อไร้สายของ Wi-Fi เป็นชื่อรหัส 802.11 ตามมาตรฐานของ IEEE**

แน่นอนถ้าดูจากข้อมูลแล้ว Wifi 6 น่าจะเป็นเทคโนโลยีล่าสุด เมื่อปี 2019 ซึ่งจุดเด่นของ Wifi 6 มีเยอะมากไม่ว่าจะเป็น อัตราการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น ความจุสัญญาณมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เป็นจำนวนมาก

Wi-Fi 6 นั้น มีเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นจาก Wi-Fi 5 ค่อนข้างมาก ในส่วนของข้อมูลเชิงลึก แอดคิดว่าคงไม่เอามาพูดถึงในบทความนี้ เพราะจะทำให้คนดูงงไปมากกว่าเดิม จึงขอยกแค่ส่วนที่เป็นฟีเจอร์หลัก ๆ มาอธิบาย อันได้แก่

  • Orthogonal Frequency Division Multiple Access (OFDMA): ซอยช่องสัญญาณเป็นช่องย่อย ๆ เพื่อลดความหน่วงแฝง (latency) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อหนาแน่น
  • Multi-user MIMO (MU-MIMO): ที่ถูกพัฒนามาจาก Wi-Fi 5 ซึ่งมันไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลไปยังหลายอุปกรณ์พร้อมกันในคราวเดียว ยังคงต้องใช้การทำงานในรูปแบบสลับสัญญาณไปมา และนี่ก็เป็นสาเหตุของอาการเน็ตสะดุดอีกด้วย แต่ใน Wi-Fi 6 นี้ มันสามารถทำอย่างที่ว่าได้แล้ว (แต่ในกรณีนี้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเองก็ต้องรองรับ MU-MIMO ด้วยนะครับ ถึงจะใช้งานได้)
  • Target wake time (TWT): ช่วยประหยัดพลังงานหรือแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ปลายทาง เปรียบได้กับมี sleep mode นั่นเอง แถมยังรองรับอุปกรณ์ IoT ด้วย และอุปกรณ์ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด ก็พวก IoT นี่แหละ เพราะปกติจะเป็นอุปกรณ์ประเภท low-power อยู่แล้ว
  • 1024 quadrature amplitude modulation mode (1024-QAM): เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของทางผู้ผลิต สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเข้าใจแค่เพียงว่า มันเพิ่มความสามารถในการเข้ารหัสข้อมูล จากเดิม 256-QAM ใน Wi-Fi 5 ทำให้มีอัตราการรับ-ส่งข้อมูลสูงขึ้นถึง 40%

จะเห็นได้ว่า ขนาด Wifi6 ยังทำได้มากกว่า Wifi 5 ตั้งหลายอย่าง แล้วWifi6E ล่ะ?

WI-FI 6E

ถ้าตามหลักแล้ว Wi-Fi 6E มันก็เหมือน Wi-Fi 6 แทบทั้งหมด ยังคงอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11ax เหมือนเดิม แต่คราวนี้ได้มีการนำคลื่นความถี่ในย่าน 6 GHz มาอัปเกรดให้มันด้วย ในขณะที่จากเดิมมีใช้อยู่แค่ 2.4 GHz และ 5 GHz ซึ่งมันเริ่มที่จะไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน เพราะอย่าลืมว่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อปอีกแล้ว ที่สามารถต่อ Wi-Fi ได้ อุปกรณ์จำพวก IoT ต่าง ๆ ทั้งหลายก็ต่อ Wi-Fi ได้เช่นกัน นอกจากนี้ทั้งจำนวนผู้ใช้งานรวมถึงปริมาณการใช้งานก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

โดยจากรายงานของ Cisco ระบุว่า ในปี 2018 มียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกราว 3.9 พันล้านคน คิดเป็น 51% ของประชากรโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 5.3 พันล้านคนในปี 2023 ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 66% หรือสองในสามของประชากรโลก Wi-Fi จึงต้องขยับไปใช้คลื่นความถี่ 6 GHz ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อได้มากกว่าเดิม เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงพอ

นอกจากนี้ การขยับไปใช้คลื่นความถี่ 6 GHz ของ Wi-Fi ในครั้งนี้ หลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า นี่คือการพัฒนาครั้งใหญ่ของ Wi-Fi ในรอบ 20 ปี ที่จะมาสร้างมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายได้เลยทีเดียว

วัตถุประสงค์และจุดเด่นของ WI-FI 6E

หลัก ๆ ของ Wi-Fi 6E ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำในสิ่งที่ Wi-Fi 6 ยังทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก เช่น ในสถานที่อย่างห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง สนามกีฬา หรือโรงงาน รวมไปจนถึงการสตรีมวิดีโอระดับ 4K หรือสูงกว่านั้น และการใช้งานด้าน AR/VR เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก : droidsans.com

การที่มันขยับไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 GHz ทำให้ได้ความจุสัญญาณเพิ่มขึ้นมาถึง 1200 MHz ซึ่งมากกว่าสองเท่าของการนำเอาความจุสัญญาณของ 2.4 GHz และ 5 GHz มารวมกันเสียอีก และด้วยความกว้างขนาด 1200 MHz นี้ ทำให้มันสามารถรองรับช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ได้ถึง 7 ช่อง หรือขนาด 80 MHz ได้ถึง 14 ช่องเลยทีเดียว ทำให้มีความหน่วงแฝงในขณะเชื่อมต่อที่ต่ำมาก ๆ (ดีเลย์ หรือช้านั้นแหละ) แม้ว่าจะเชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์ในคราวเดียวก็ตาม โดยทาง Broadcom ระบุว่า Wi-Fi 6E สามารถทำความหน่วงแฝงได้ต่ำที่สุด ‘ไม่ถึงมิลลิวินาที’ ภายในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร จากเราเตอร์หรือ AP (access point)

ขอบคุณภาพจาก : droidsans.com

อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหา ‘สัญญาณตีกัน’ บน 2.4 GHz และ 5 GHz ที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูงได้อีกด้วย หากจะกล่าวให้เป็นรูปธรรมอีกสักหน่อย ให้ลองนึกภาพว่า บนถนนมันมีรถเยอะแล้ว รถติด ก็เลยเปิดถนนเส้นใหม่เพิ่ม แล้วขับโล่ง ๆ เต็มสปีดไปเลย แถมถนนที่สร้างใหม่นี้ยังเปิดได้หลายเลน (ช่องสัญญาณ) และแต่ละเลนก็กว้างกว่าเก่าด้วย (แบนด์วิดท์) เพราะมีพื้นที่มากเพียงพอ (ความจุสัญญาณ)

มันเร็วกว่าเดิมแค่ไหน

ประเด็นนี้ไม่เป็นที่ถูกพูดถึงกันสักเท่าไหร่ อาจเพราะ ‘ความเร็วในการใช้งานจริง’ ที่ระดับ 1 Gbps บน Wi-Fi 6 ในปัจจุบันก็สูงเพียงพอต่อผู้ใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้ว แต่ทั้งนี้ในทางเทคนิคแล้ว Wi-Fi 6E นั้นจะเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2 – 2.5 เท่า สามารถทำความเร็วสูงสุดในระดับ 2 Gbps บนอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้

จากข้อมูลที่กล่าวมาเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีได้ไปไกลกว่าที่เราคิด ขนาดบ้านแอดยังเป็น Wifi5 อยู่เลยฮ่าาา แต่ถึงอย่างนั้น ต่อให้เทคโนโลยีจะไปไกลมากจนเราต้องตามให้ทัน การใช้งานจริงอาจต้องรอให้ผ่านหลายขั้นตอน รวมไปถึงอุปกรณ์ที่จะใช้งานร่วมกันด้วย ว่ามีความพร้อมที่จะให้เราใช้ได้หรือยัง ซึ่งนั้นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ก็คงไม่นานเกินรอที่เราจะได้ใช้งานเช่นกัน..

ที่มาข้อมูล : droidsans.com

แชร์
Message us